top of page

ชาไทย ไทยจริงไหม

ชาเป็นที่รู้จักในประเทศไทยได้อย่างไร

จากการค้นพบจดหมายของซีมง เดอ ลา ลูแบร์ หัวหน้าคณะทูตฝรั่งเศส ทำให้เรารู้ว่า คนไทยรู้จักกับการดื่มชามาตั้งแต่สมัยสุโขทัย การเข้ามาของวัฒนธรรมการดื่มชา เช่น วิธีการชงชา การปลูกชา และการยกน้ำชาเสิร์ฟให้กับแขกผู้มาเยือน ล้วนแล้วแต่ได้รับอิทธิพลมาจากการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับประเทศจีน นอกจากนี้การดื่มชายังแพร่หลายในสังคมไทยอย่างเห็นได้ชัด ในระหว่างรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 จากการเข้ามาของชาวอังกฤษ ทำให้การดื่มชากระจายไปยังชนชั้นต่าง ๆ ในสมัยนั้น และถูกส่งต่อมายังปัจจุบัน การเข้ามาของชาวต่างชาติ จึงถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาวิธีการชงชาธรรมดา ให้กลายมาเป็นชาไทยในปัจจุบัน

ประกอบสร้างเป็นชาไทย

ชาที่ใช้ทำชาไทยคือชาซีลอน มีต้นกำเนิดมาจากประเทศศรีลังกา และถูกเพิ่มส่วนผสมในการชง เช่น โป๊ยกั๊ก เมล็ดมะขามบด สีผสมอาหารสีแดงและสีเหลือง บ้างก็ใช้ใบเมี่ยงแทนใบชา และเพิ่มเครื่องเทศลงไป ขึ้นอยู่กับสูตรของแต่ละบุคคล น้ำชาที่ได้ออกมานั้น จะมีสีดำเข้มออกสีส้ม หลังจากนั้นเติมน้ำตาลและนมข้นลงไป ทำให้กลายมาเป็นสีส้มที่เป็นเอกลักษณ์ของชาไทย

หลักฐานที่บ่งบอกถึงที่มาของชาไทยยังไม่มีที่มาที่แน่ชัด หากแต่มีหลายคนเชื่อว่าเครื่องดื่มชาไทย เกิดขึ้นจากการคิดค้นของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้ที่ชื่นชอบในการดื่มชาและวัฒนธรรมตะวันตกเป็นอย่างมาก ทำให้ท่านได้พัฒนาสูตรและส่วนผสมของการชงชาขึ้นมา แต่ว่าจริง ๆ แล้วก็มีอีกคำบอกเล่าหนึ่งที่บอกว่า ในสมัยก่อนใบชามีราคาแพง ผู้ที่จะลิ้มลองรสชาติของชาได้ต้องเป็นผู้ที่มียศถาบรรดาศักดิ์ ซึ่งก็คือเจ้าขุนมูลนายต่าง ๆ หลังจากที่เสิร์ฟให้กับเจ้านายแล้ว นำมาชงซ้ำอีกครั้ง ทำให้น้ำชามีสีชืดจาง จึงเกิดการหยิบส่วนผสมมาปรุงเพิ่ม เพื่อให้ได้สีเข้มดังเดิม


ตกลงแล้วชาไทย ไทยจริงไหม

หลาย ๆ คนอาจจะไม่รู้ว่าชื่อของชาไทยที่เราเรียกกันนั้น ถูกตั้งขึ้นจากชาวต่างชาติ เนื่องจากเป็นชาที่สามารถดื่มได้แค่ที่ประเทศไทย และเป็นเครื่องดื่มที่มีเอกลักษณ์ด้วยสีสันและรสชาติของมัน นอกจากนี้การดื่มเครื่องดื่มโดยการใส่นมและน้ำตาล ก็เป็นส่วนประกอบหนึ่งของวิธีชงชาไทย ที่ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย แต่การคิดค้นส่วนผสมและการปรุงแต่ง เกิดจากการสรรค์สร้างของคนไทยที่นำวิธีต่าง ๆ มาปรับใช้ สุดท้ายนี้หากเราไม่ได้มองที่ต้นกำเนิดก็คงจะบอกได้ว่า ชาไทย มีความเป็นไทยจริง ๆ อย่างชื่อของมัน






ดู 369 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

Comments


bottom of page